Wehner, Herbert (1906–1990)

นายแฮร์แบร์ท เวเนอร์ (พ.ศ. ๒๔๔๙–๒๕๓๓)

 แฮร์แบร์ท เวเนอร์เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมันและนักการเมืองสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (Germany Social Democratic Party–SPD)* ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีหรือเคพีดี (Communist Party of Germany–KPD) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๗–๑๙๔๒ ในช่วงปลายสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* เวเนอร์มีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านระบอบนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party–NSADP; Nazi Party)* เขาจึงถูกตามล่าสังหารหลายครั้งจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เวเนอร์ได้รับคำสั่งให้ไปประจำ ณ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียตและตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘)* ของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* แต่เขาก็เอาตัวรอดมาได้ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เขาถูกส่งตัวไปทำงานให้พรรคเคพีดีในสวีเดน และใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ก็ถูกรัฐบาลสวีเดนจับกุมตัวในข้อหาทำจารกรรมและชักนำต่างชาติเข้าไปในประเทศ เวเนอร์ถูกคุมขังอยู่ในสวีเดนเป็นเวลา ๒ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ขณะเป็นนักโทษอยู่นั้น เวเนอร์ถูกขับออกจากพรรคเคพีดีในข้อหาทรยศต่อพรรค หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง เขากลับมาเยอรมนีและร่วมงานกับพรรคเอสพีดีที่คูร์ท ชูมัคเคอร์ (Kurt Schumacker)* ฟื้นฟูขึ้นใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙–๑๙๘๓ เวเนอร์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกติดต่อกันหลายสมัยและมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปพรรคเอสพีดีให้เข้มแข็งจนได้เข้าร่วมรัฐบาลใน ค.ศ. ๑๙๖๖ และได้เป็นรัฐบาลระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙–๑๙๘๒

 เวเนอร์เกิดในครอบครัวผู้ใช้แรงงาน เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ ที่เมืองเดรสเดิน (Dresden) รัฐแซกโซนี (Saxony) แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* บิดาเป็นช่างทำรองเท้าที่ยากจนและทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานในสหภาพการค้าแห่งเมืองเดรสเดินอย่างแข็งขัน ทั้งยังเป็นสมาชิกพรรคเอสพีดีด้วย เวเนอร์จึงสนใจการเมืองมาแต่ยังเด็ก แต่มีความคิดรุนแรงยิ่งกว่าบิดา เพราะต้องทำงานหนักมาตั้งแต่อายุยังน้อยและมีประสบการณ์จากชีวิตความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนทางวัตถุ ทั้งยังมักถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากผู้ที่มีฐานะสูงกว่าอยู่เสมอ เมื่อโตขึ้นเวเนอร์จึงเป็นคนหัวรุนแรงและมีนิสัยต่อต้านสังคมอำนาจ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทั้งยังเป็นคนเงียบขรึม ลุ่มลึก ไม่มีผู้ใดสามารถคาดเดาใจเขาได้ ในด้านการศึกษาเวเนอร์เข้าเรียนในโรงเรียนภาคปรกติจนได้รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย และทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากบิดาได้เสียชีวิตลงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* อย่างไรก็ดีเวเนอร์ได้ใช้เวลาหลังเลิกงานในตอนเย็นเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี และปรัชญา ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนภาคกลางคืน ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เวเนอร์ได้เข้าสู่ชีวิตทางการเมืองโดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคยุวชนแรงงานสังคมนิยม (Socialist Workers’Youth) และเริ่มเขียนบทความทางการเมืองส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารฝ่ายซ้ายในปลายปีเดียวกันเขาก็ออกจากพรรคนี้ไปเข้าร่วมกลุ่มกับพวกหัวรุนแรงอนาธิปไตยซินดิคัล (anarcho-syndicalist) ที่มีเอริช มือซัม (Erich Mühsam) เป็นหัวหน้า เพราะต้องการทำงานต่อต้านรัฐบาลไวมาร์ที่มีกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่นานเขาก็ถอนตัวออกจากกลุ่มนี้อีก เพราะมีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกันกับมือซัมที่เวเนอร์เห็นว่ามีแนวคิดค่อนข้างไปในทางสันติมากเกินไป

 เวเนอร์สนใจลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* และวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* อย่างลึกซึ้ง เขาศึกษางานเขียนเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์หลายเรื่องทั้งงานเขียนของมากซ์และคนอื่น ๆ และได้รับอิทธิพลทางความคิดจากมีฮาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin)* ปีเตอร์ เอ.โครปอตกิน (Peter A. Kropotkin) กุสทาฟลันเดาเออร์ (Gustav Landauer) และโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* ซึ่งล้วนเป็นนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของมากซ์และเลนินในบางเรื่องที่สตาลินนำไปประยุกต์ใช้จนถึงกับเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของสตาลินหลายครั้ง ซึ่งทำให้เขาถูกเพ่งเล็งจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ด้วยความไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา

 อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เวเนอร์ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีที่มีแอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann)* เป็นหัวหน้าและได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การ Rote Hilfe ของพรรคในปีเดียวกันเขาได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วโดยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการพรรคสาขาแซกโซนีใน ค.ศ. ๑๙๒๙ อีกทั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เขายังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐแซกโซนีในขณะที่มีอายุเพียง ๒๔ ปี นับเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น อย่างไรก็ดี ในปีต่อมาเวเนอร์ก็ต้องลาออก เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารพรรคหรือโปลิตบูโรที่สำนักงานกลาง ณ กรุงเบอร์ลินพร้อมๆกับวัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)*

 ในเดือนมกราคมค.ศ. ๑๙๓๓หลังฮิตเลอร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีก็เริ่มดำเนินการต่อต้านระบอบนาซีอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม เวเนอร์เป็นกำลังสำคัญของกลุ่มคอมมิวนิสต์และพวกนิยมลัทธิมากซ์ที่ดำเนินการต่อต้านฮิตเลอร์อย่างรุนแรงในแคว้นซาร์ซึ่งเป็นดินแดนในอาณัติ (Saar Protectorate) ของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* เขาจึงถูกนาซีตามล่า ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์การเผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* ในคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ฮิตเลอร์ได้ฉวยโอกาสให้ประธานาธิบดี เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ลงนามในกฤษฎีกาฉุกเฉินเพื่อกำจัดพวกคอมมิวนิสต์และพวกที่ต่อต้านระบอบนาซี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีจึงถูกยุบเลิกลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ บรรดาคอมมิวนิสต์ในระดับหัวหน้าหลายคนถูกจับกุม แต่เวเนอร์ยังคงเอาตัวรอดมาได้ ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ หลังแคว้นซาร์ลงประชามติขอรวมตัวกับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* แล้วฮิตเลอร์ยิ่งดำเนินการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของเขาอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น คอมมิวนิสต์จำนวนหลายพันคนถูกจับกุมคุมขังหรือถูกส่งไปอยู่ค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ของนาซีตามที่ต่างๆ ส่วนเวเนอร์หนีไปอยู่ที่กรุงปราก (Prague) เชโกสโลวะเกียพร้อมกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับผู้นำคนอื่น ๆ อีก ๒–๓ คนเพื่อจัดตั้งพรรคเคพีดีพลัดถิ่นขึ้นที่นั่นในการประชุมพรรคที่กรุงปรากในปีเดียวกันเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้เข้าแข่งขันเป็นสมาชิกในคณะผู้บริหารและกรรมการในคณะกรรมาธิการกลางของเคพีดีที่จะจัดตั้งขึ้นด้วย

 อย่างไรก็ดี พรรคเคพีดีพลัดถิ่นและสมาชิกพรรคก็ยังถูกคุกคามจากพวกนาซีตลอดเวลา ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เวเนอร์จึงลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงปารีส และพยายามสร้างเครือข่ายกับกลุ่มชาวเยอรมันที่อพยพหนีออกมาอยู่นอกประเทศ อย่างเช่นกลุ่มแนวร่วมประชาชนเยอรมัน (German Popular Front) ที่มีไฮน์ริช มันน์ (Heinrich Mann) เป็นหัวหน้าโดยได้รับความช่วยเหลือจากพรรคแนวร่วมประชาชน (Popular Front)* ของฝรั่งเศสแต่เขาก็ทำงานไม่ได้นานเพราะใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เวเนอร์และสมาชิกพรรคเคพีดีคนสำคัญ ๆ อีกหลายคนที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ถูกเรียกตัวไปประจำ ณ กรุงมอสโกโดยให้อยู่รวมกันที่โฮเตลลักซ์ (Hotel Lux) เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองเยอรมันให้องค์การโคมินเทิร์นขณะเดียวกันเวเนอร์ก็เขียนบทความทางการเมืองส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันชื่อ Deutsche Central Zeitung ด้วย

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๗–๑๙๓๘ เมื่อมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ในสหภาพโซเวียต เวเนอร์และคอมมิวนิสต์เยอรมันในระดับผู้นำคนอื่น ๆ อีกหลายคน อาทิ ฮูโก เอแบร์ไลน์ (Hugo Eberlein) ไฮนซ์ นอยมันน์ (Heinz Neumann) แฮร์มันน์ เรมเมอเลอ (Hermann Remmele) ฟริทซ์ ชุลเทอ (Fritz Schulte) แฮร์มันน์ ชูแบร์ท (Hermann Schubert) ตกเป็นเหยื่อในข้อหาต่อต้านสตาลินด้วย เพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคนของเขาถูกสังหารอย่างไร้ร่องรอย และบ้างก็ถูกส่งไปอยู่ค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* ในดินแดนทุรกันดาร แต่เวเนอร์ก็สามารถแก้ข้อกล่าวหาจนได้รับการปล่อยตัวออกมาใน ค.ศ. ๑๙๓๘ และกลับเข้าทำงานในกรุงมอสโกในฐานะสมาชิกพรรคเคพีดีในระดับหัวหน้าต่อไปจนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๔๐ (หลังเวเนอร์เสียชีวิตไปแล้ว นิตยสาร Der Spiegel ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีได้ตีพิมพ์บทความเปิดโปงว่า เวเนอร์รอดชีวิตจากการกวาดล้างครั้งนั้นมาได้เพราะเขาเปิดเผยข้อมูลลับของเพื่อนร่วมอุดมการณ์บางคนอาทิเอแบร์ไลน์ให้แก่เจ้าหน้าที่โซเวียตเพื่อเอาตัวรอด)

 ในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๑ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังรุนแรง เวเนอร์ถูกส่งตัวไปอยู่สวีเดนซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางเพื่อทำงานให้พรรคและหาทางเล็ดลอดกลับเข้าเยอรมนี อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ขณะพำนักอยู่ในกรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) เวเนอร์ถูกรัฐบาลสวีเดนจับกุมในข้อหาทำจารกรรมและชักนำต่างชาติเข้าไปในสวีเดน เขาถูกส่งตัวขึ้นศาลและถูกจำคุกในสวีเดน ๒ ปี นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ขณะที่ถูกคุมขังอยู่นั้นเวเนอร์ถูกวิลเฮล์ม พีค (Wilhelm Pieck)* ผู้นำพรรคเคพีดีในสหภาพโซเวียตและเลขาธิการองค์การโคมินเทิร์นซึ่งมีความคิดเห็นขัดแย้งกับเขาขับออกจากพรรคในข้อหาทรยศต่อพรรค เวเนอร์จึงถอยห่างจากพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตั้งแต่บัดนั้น อย่างไรก็ดีหลังพ้นโทษใน ค.ศ. ๑๙๔๔ แล้ว เวเนอร์ยังคงทำงานอยู่ในสวีเดนต่อไป

 เวเนอร์เดินทางกลับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๔๖ และได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคเอสพีดีที่ชูมัคเคอร์ฟื้นฟูขึ้นใหม่ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ในปีเดียวกัน เวเนอร์เป็นกำลังสำคัญของชูมัคเคอร์ในการจัดตั้งและบริหารพรรคในระยะแรกเป็นอย่างมากเขาจึงได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคเอสพีดีใน ค.ศ. ๑๙๔๙ นอกจากนี้ในปีเดียวกันหลังการสถาปนาประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกแล้ว และมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ชูมัคเคอร์สนับสนุนให้เวเนอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคเอสพีดีซึ่งเขาก็ได้รับเลือกตั้ง ทั้งยังได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมาอีกหลายสมัยจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๒–๑๙๕๘ หลังการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community–ECSC)* ขึ้นแล้ว เวเนอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมัชชาร่วมยุโรป [(Common Assembly) ซึ่งต่อมาคือรัฐสภายุโรป (European Parliament)] ของอีซีเอสซีด้วย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗–๑๙๕๘ และ ค.ศ. ๑๙๖๔–๑๙๖๖ เวเนอร์เป็นรองหัวหน้ากลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเอสพีดีในรัฐสภา นอกจากนี้เขายังเขียนบทความทางด้านการต่างประเทศให้แก่หนังสือพิมพ์ Hamburger Echo ของพรรคเอสพีดีมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๙–๑๙๘๓

 หลังอสัญกรรมของชูมัคเคอร์ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เวเนอร์อยู่ในกลุ่มผู้บริหารพรรคที่ต้องการปฏิรูปพรรคเอสพีดีให้เข้มแข็ง และมีนโยบายที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาจึงมีบทบาทสำคัญในการประชุมใหญ่ของพรรคที่เมืองบัดโกเดสแบร์ก (Bad Godesberg) ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ โดยได้พยายามผลักดันให้ที่ประชุมลงมติรับรอง “โครงการโกเดสแบร์ก” (Godesberg Program) จนเป็นผลสำเร็จ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการปฏิรูปพรรคเอสพีดีอย่างรอบด้านโดยพรรคผละออกจากอุดมการณ์ลัทธิมากซ์ (Marxism)* อย่างเคร่งครัดตามแบบดั้งเดิมที่พรรคเอสพีดียึดถือมาแต่ต้น และเปลี่ยนนโยบายให้เป็นเสรีนิยมสายกลางเพื่อให้พรรคเอสพีดีเป็นพรรคแนวสังคมประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทนของชนทุกชั้นรวมทั้งกลุ่มทุนนิยมด้วย หลังดำเนินการตามโครงการนี้แล้วพรรคเอสพีดีก็มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นและสามารถขยายฐานเสียงได้อย่างกว้างขวางจนกลายเป็นพรรคใหญ่ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตยหรือซีดียู (Christian Democratic Union–CDU)* ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐

 สำหรับความคิดทางการเมืองนั้น เวเนอร์มีนโยบายสนับสนุนการเข้าร่วมกระบวนการบูรณาการยุโรปของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมาแต่ต้น ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายของชูมัคเคอร์เป็นอย่างมาก หลังอสัญกรรมของชูมัคเคอร์แล้วเวเนอร์ยังได้กล่าวย้ำในสุนทรพจน์ที่เขาแสดงในรัฐสภาเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ ตอนหนึ่งว่า พรรคเอสพีดีได้กำหนดให้การบูรณาการเยอรมนีตะวันตกเข้ากับเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันตกเป็นพื้นฐานของนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศของพรรค โดยส่วนตัวเวเนอร์เป็นเพื่อนสนิทของชอง มอนเน (Jean Monnet)* นักยุโรปนิยมที่มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ทั้งยังสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรป (Action Committee for the United States of Europe) ซึ่งเป็นองค์การเอกชนนานาชาติที่มอนเนจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือการจัดตั้งประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community–EC)* ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๕ เป็นอย่างมากด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ เมื่อมอนเนมีดำริที่จะล้มเลิกองค์การนี้ เขาจึงคัดค้านเพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่มีประโยชน์ที่ช่วยส่งเสริมให้คนชาติต่าง ๆ ที่มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกันมาพบปะหารือและทำงานร่วมกัน

 นอกจากนี้เวเนอร์ยังสนับสนุนการรวมเยอรมนีทั้ง ๒ ประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว และสนับสนุนการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคเอสพีดีกับพรรคซีดียูด้วยฉะนั้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๖–๑๙๖๙ เมื่อพรรคเอสพีดีได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคซีดียูที่มีคูร์ท เกออร์ก คีส-ซิงเงอร์ (Kurt Georg Kiesinger) เป็นนายกรัฐมนตรีเวเนอร์จึงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติเยอรมัน (Federal Minister of Intra-German Relations) ในช่วงนี้แม้ว่าคีสซิงเงอร์เป็นอดีตนาซีและเวเนอร์เป็นอดีตคอมมิวนิสต์แต่คนทั้งสองก็สามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยดี

 อย่างไรก็ดี เมื่อพรรคเอสพีดีได้เป็นรัฐบาลซึ่งมีพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือเอฟดีพี (Free Democratic Party–FDP) เป็นพรรคร่วม โดยมีวิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙–๑๙๗๔ ความสัมพันธ์ระหว่างเวเนอร์กับบรันดท์กลับไม่ราบรื่นเท่าที่ควรเพราะเวเนอร์มีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากบรันดท์ในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้นโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)* ซึ่งแม้เวเนอร์จะเห็นด้วยอย่างมากและสนับสนุนนโยบายนี้อย่างแข็งขันมาแต่ต้น แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดำเนินนโยบายของบรันดท์ ในช่วงนี้เวเนอร์จึงไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของบรันดท์ เขาเพียงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มผู้แทนพรรคเอสพีดีในรัฐสภาเท่านั้นอย่างไรก็ดีในวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๒ เมื่อพรรคซีดียูเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจบรันดท์ในรัฐสภา เวเนอร์ได้ทำหน้าที่ปกป้องบรันดท์อย่างซื่อสัตย์และเข้มแข็งทั้งยังรักษาระเบียบวินัยของพรรคไว้ได้เป็นอย่างดี โดยขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเอสพีดีทุกคนไม่เข้าร่วมในการออกเสียงลงมติไม่ไว้วางใจบรันดท์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรยศต่อพรรคทำให้พรรคซีดียูแพ้คะแนนเสียงข้างมาก ๒ เสียง บรันดท์จึงยังคงรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ได้

 ในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ หลังการทำสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตรวมทั้งเยอรมนีตะวันออกตามนโยบายมุ่งตะวันออกแล้ว เวเนอร์ได้เดินทางไปเยือนประเทศเหล่านี้ในฐานะผู้แทนเยอรมนีตะวันตกเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ใน ค.ศ. ๑๙๗๓ เมื่อเขาเดินทางไปเยือนเยอรมนีตะวันออก เขาได้พบกับเอริช โฮเนคเคอร์ (Erich Honecker)* ผู้นำเยอรมนีตะวันออกเป็นครั้งแรก ต่อมาในปีเดียวกันเวเนอร์ยังได้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ซึ่งในครั้งนั้นเขาได้แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการส่งผู้แทนระดับกงสุลของเยอรมนีตะวันตกไปประจำ ณ กรุงเบอร์ลินตะวันออกต่อสาธารณชนด้วย

 อย่างไรก็ดี หลังบรันดท์ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเวเนอร์กับบรันดท์ก็ยิ่งเลวลง โดยเฉพาะในระหว่างวิกฤตการณ์น้ำมันในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๗๓ อันเป็นผลกระทบมาจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เวเนอร์มีความเห็นว่าบรันดท์ดำเนินนโยบายไม่เด็ดขาดจึงมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของบรันดท์อย่างเปิดเผย ยิ่งกว่านั้นใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ยังเกิดเหตุการณ์เรื่องกึนเทอร์ กีโยม (Günter Guillaume Affairs) ที่ปรึกษาระดับสูงคนหนึ่งของบรันดท์ที่ถูกจับกุมและถูกส่งตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลในข้อหาว่าเป็นสายลับของเยอรมนีตะวันออกเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บรันดท์ถูกโจมตีอย่างรุนแรงทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและนักการเมืองในพรรคของเขาเอง แต่ในครั้งนั้นเวเนอร์ก็ไม่ได้ช่วยเหลือปกป้องหรือสนับสนุนบรันดท์ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปมากนักในทางตรงกันข้าม เขากลับสนับสนุนเฮลมุท ชมิดท์ (Helmut Schmidt)* รองหัวหน้าพรรคเอสพีดีให้ดำรงตำแหน่งแทนบรันดท์จึงต้องลาออกในที่สุด ส่วนเรื่องการเป็นสายลับนั้น ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ หลังเวเนอร์เสียชีวิตไปแล้วมาร์คุส วอลฟ์ (Markus Wolf) อดีตหัวหน้าสายลับของเยอรมนีตะวันออกได้ออกมากล่าวเป็นนัย ๆ ว่า แท้ที่จริงเวเนอร์ก็ทำงานให้กับเยอรมนีตะวันออกด้วย แม้ว่าอีก๒เดือนต่อมาวอลฟ์ได้ปฏิเสธคำกล่าวนี้อย่างแข็งขันก็ตาม แต่ก็ทำให้สาธารณชนให้ความสนใจกับเรื่องของเวเนอร์เกี่ยวกับการเป็นอดีตสายลับของเยอรมนีตะวันออกเป็นอย่างมาก

 ตลอดเวลาเกือบ ๙ ปีที่ชมิดท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวเนอร์ยังคงทำงานในฐานะหัวหน้าอาวุโสของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเอสพีดีในรัฐสภามาโดยตลอด แม้เมื่อชมิดท์พ้นจากตำแหน่งเนื่องมาจากแพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจใน ค.ศ. ๑๙๘๒ เขาก็ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อมาอีก ๑ ปี จนครบวาระและไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๘๓ ทั้งยังเกษียณตนเองจากชีวิตทางการเมืองโดยสิ้นเชิงและใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงบอนน์ (Bonn)

 ในด้านชีวิตส่วนตัวเวเนอร์สมรส๓ครั้งกับลอทเทอ เลอบิงเงอร์ (Lotte Loebinger) ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ลอทเทอ บูร์เมสเทอร์ (Lotte Burmester) ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ และเกรทา บูร์เมสเทอร์ (Greta Burmester) ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ ซึ่งในการสมรสครั้งนี้เขามีบุตรสาวกับเธอ ๒ คน

 แฮร์แบร์ท เวเนอร์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเบาหวานและโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดตีบที่บ้านพักในกรุงบอนน์ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ขณะอายุ ๘๓ ปี เขามีผลงานเขียนทางการเมืองและการต่างประเทศทั้งที่เป็นบทความและหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์หลายเรื่อง หนังสือเล่มสำคัญคือ Zeugnis (ค.ศ. ๑๙๘๒) ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำที่ให้รายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตและการต่อสู้ทางการเมืองของเขาตั้งแต่ต้นจนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐.



คำตั้ง
Wehner, Herbert
คำเทียบ
นายแฮร์แบร์ท เวเนอร์
คำสำคัญ
- กฤษฎีกาฉุกเฉิน
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การเผาสภาไรค์ชตาก
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- โคมินเทิร์น
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- ชมิดท์, เฮลมุท
- ชูมัคเคอร์, คูร์ท
- เทลมันน์, แอนสท์
- นโยบายมุ่งตะวันออก
- นาซี
- แนวร่วมประชาชน
- บรันดท์, วิลลี
- บาคูนิน, มีฮาอิล
- ประชาคมยุโรป
- ประชาคมยุโรปหรืออีซี
- พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี
- พรรคนาซี
- พรรคแนวร่วมประชาชน
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พรรคเสรีประชาธิปไตยหรือเอฟดีพี
- พีค, วิลเฮล์ม
- มอนเน, ชอง
- มากซ์, คาร์ล
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- ลัทธิมากซ์
- เลนิน, วลาดีมีร์
- เวเนอร์, แฮร์แบร์ท
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญามิตรภาพ
- สภาไรค์ชตาก
- สหภาพโซเวียต
- สันนิบาตชาติ
- สากลที่ ๓
- เหตุการณ์เรื่องกึนเทอร์ กีโยม
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- อุลบริชท์, วัลเทอร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
- โฮเนคเคอร์, เอริช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1906–1990
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๙–๒๕๓๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-